ประวัติความเป็นมาของวัดทุ่งต้อม ( บ้านหม้อ )
หมู่ 5 ตำบลห้วยทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
*********************************************************************************************
วัดทุ่งต้อม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ (หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๙ หน้า ๑๙๔) ชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านหม้อ หรือ วัดหม้อ แต่เดิมวัดตั้งอยู่ที่โรงเรียนวัดบ้านหม้อ ต่อมาได้มีราษฎรอพยพมาจากบ้านทุ่งต้อม (บรรพบุรุษเป็นชาวไทยเขิน, ลัวะ) อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาตั้งรกรากอยู่อาศัย ทำนา ทำไร่ ทำสวน เห็นว่าวัดเก่าตั้งอยู่ใกล้ป่า ไกลหมู่บ้าน และมักถูกไฟป่าไหม้อยู่เสมอ หาพระภิกษุสามเณรจำพรรษาอยู่ประจำยาก จึงได้ตกลงช่วยกันสร้างวัดขึ้นใหม่ให้ใกล้หมู่บ้าน และตั้งชื่อวัดว่า “วัดทุ่งต้อม” ตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านทุ่งต้อม ตามชื่อหมู่บ้านที่อพยพกันมา นอกจากทำไร่ ทำนาแล้ว ชาวบ้านยังประกอบอาชีพเสริม คือ อาชีพปั้นหม้อซึ่งทำด้วยดินเหนียว เช่น หม้อใส่น้ำดื่ม หม้อแกงสำหรับใช้ปรุงอาหาร หม้อวงต้มยา หม้อใส่ข้าวสาร หม้อนึ่ง เป็นต้น นำไปขายหรือแลกเปลี่ยนสิ่งของตามหมู่บ้านต่าง ๆ บ้างก็มาซื้อเพื่อนำไปขายต่อหรือนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนเพื่อใช้สอย หม้อดินที่ปั้นโดยช่างปั้นบ้านหม้อนั้น เป็นหม้อที่มีรูปทรงสวยงามและคุณภาพดี และเมื่อนำหม้อแกงที่ปั้นจากดินไปปรุงอาหารก็ทำให้มีรสชาติอร่อยขึ้นเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป จนพูดกันปากต่อปากว่า “ลำแต้ๆ” เพราะในอดีตชาวบ้านเกือบทุกครัวเรือนประกอบอาชีพปั้นหม้อนี่เอง คนทั่วไปจึงเรียกชื่อหมู่บ้านอีกชื่อหนึ่งว่า “ บ้านหม้อ ”
ในปัจจุบัน ผู้ที่ทำอาชีพปั้นหม้อนั้นมีเหลืออยู่ไม่กี่ครัวเรือน ส่วนมากจะประกอบอาชีพหัตถกรรมที่ทำจากไม้มะม่วงโดยทำเป็นแจกัน เชิงเทียน ตลับใส่ของ หม้อ ถาด เป็นต้น หัตถกรรมที่ทำจากไม้กระท้อน(บ่าตื๋น),ไม้งิ้ว,กะลามะพร้าว, ทำเป็นโมบายนกสำหรับแขวนประดับให้สวยงาม, หัตถกรรมที่ทำจากไม้ไผ่ เช่น เรือใบ สามล้อถีบ เกวียนหรือล้อ บ้านทรงไทย เป็นต้น ของชำร่วยที่ระลึก ของฝากและสิ่งของประดับต่างๆ บ้างก็ทำกันเอง บ้างรวมกลุ่มกันทำ และตั้งศูนย์ OTOP ประจำตำบลขึ้นภายในหมู่บ้าน,มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน บางส่วน
แต่เดิม ที่ดินวัดมีเนื้อที่ ๒ ไร่ ๓ งาน ๔๕ ตารางวา ต่อมาพระครูปิยธรรมทัต เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้ขยายที่ดินทางทิศใต้จรดลำเหมือง ขยายทิศตะวันตกจรดบ้านนายแสง จันตาเงิน จึงมีเนื้อที่เพิ่มประมาณ ๔ ไร่ การพัฒนาดีขึ้นตามลำดับจนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา งวด ๓ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ผู้รับสนองพระราชโองการคือพลอากาศเอกสมบูรณ์ ระหงษ์ รองนายกรัฐมนตรี(ในขณะนั้น), ลำดับเจ้าอาวาสเท่าที่ปรากฎหลักฐานจนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด ๙ ท่าน ท่านแรกคือ ครูบาปัญญา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๐๐ - ๒๔๕๕, ท่านที่ ๒ ครูบาอู, ท่านที่ ๓ ครูบาอุ่นเรือน, ท่านที่ ๔ ครูบาพุทธิมา, ท่านที่ ๕ ครูบาอิ่นเป่น, ท่านที่ ๖ พระอธิการบุญเป็ง ปสนฺโน,ท่านที่ ๗ เจ้าอธิการคำตัน จนฺทสโร, ท่านที่ ๘ พระอธิการกมล อภิฉนฺโน และท่านปัจจุบันคือพระครูปิยธรรมทัต(ทองอินทร์ ปิยธมฺโม) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา และปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะอำเภอสันกำแพง รูปที่ ๑ (ฝ่ายเผยแผ่) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ - ปัจจุบัน
วัดทุ่งต้อมเป็นที่ตั้งขององค์กรต่าง ๆ คือ
๑.) สำนักงานเจ้าคณะตำบล พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๕๑
๒.) สำนักงานศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พ.ศ. ๒๕๒๖ - ปัจจุบัน
๓.) อ.ป.ต.ห้วยทราย พ.ศ. ๒๕๒๑ - ๒๕๓๓
๔.) สำนักงานรองเจ้าคณะอำเภอสันกำแพง (ฝ่าเผยแผ่) ตั้งแต่ ๒๕๕๑- ถึง ปัจจุบัน
• ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด พ.ศ. 2350
• ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2538
สถานที่ทองเที่ยวมีดังนี้
๑. มีสำนักปฏิบัติธรรม วัดทุ่งต้อม มี พระธาตุศรีสันกำแพง- พระเจ้าทันใจ -ศาลา - กุฏิสงฆ์ สถานที่กว้าง
๒. วัดทุ่งต้อม มี วิหารสองชั้น กุฏิสงฆ์-ศาลา -หอไตร-พระพุทธรูป-ร.9-โรงครัว -บาตรประจำวัน ป้ายวัด- ป้ายศูนย์วันอาทิตย์ -พระพุทธรูป-หอระฆัง แทงค์น้ำ
กลองหลวง ป้ายประวัติความเป็นมาของวัด
งานประจำปี จะมีงานดังต่อไปนี้
๑. กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี
๒. ตักบาตรวันขึ้นปีใหม่
๓. สรงน้ำพระธาตุ และพระเจ้าทันใจ
๔. งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่เมือง
๕. บินทบาตรวันวิสาขบูชา
๖. เปิดเรียนศูนย์วันอาทิตย์
๗. ทำบุญเข้าพรรษาช่วงเข้าพรรษาฟังเทศน์ และปฏิบัติธรรม สวดมนต์
๘. จัดงานวันแม่แห่งชาติ
๙. ทำบุญออกพรรษา
๑๐. ทำบุญทอดกฐิน
๑๑. จัดงานยี่เป็ง